การเข้ามายึดพื้นที่ตอนเหนือของเมืองต้างยานโดยกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army-UWSA) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้คนในพื้นที่กลัวว่าจะมีการสร้างเขื่อนหนองผาบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีแผนก่อสร้างโดยประเทศจีนนานมาแล้ว
กองทัพว้าประกาศเจตจำนงที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปในเมืองต้างยาน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 โดยทหารว้ากว่า 2,000 นาย ได้เดินทางด้วยรถบรรทุกจากด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ไปประจำตามจุดต่าง ๆ รอบเมืองต้างยาน และตามแนวถนนหลวงต้างยาน- เมืองไย๋ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประชาชนไม่ได้รับรู้ก็คือ กองทัพว้าได้เข้าไปควบคุมตอนเหนือของเมืองต้างยานทั้งหมด ตั้งแต่เมื่อห้าเดือนที่แล้ว โดยมีการขับไล่กองกำลังมานป่าง ที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าออกไป
การขยายอิทธิพลของกองทัพว้าเข้ามายังตอนเหนือของเมืองต้างยาน ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่กำลังมีการสร้างเขื่อนมานโตงขนาด 225 เมกะวัตต์ในน้ำมา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินในเขตปกครองตนเองของว้า (UWSA)
เขื่อนมานโตงเป็นกิจการร่วมระหว่าง Hydrochina Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และ International Group of Entrepreneurs (IGE) ซึ่งเป็นกิจการของพวกพ้องของกองทัพเมียนมา โดยในความตกลงของโครงการครอบคลุมการก่อสร้างเขื่อนหนองผาขนาด 1,200 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำสาละวินสายหลัก ที่อยู่บริเวณนั้น เขื่อนทั้งสองแห่งถูกก่อสร้างในรูปของโครงการ Build Operate Transfer (BOT) (เอกชนผู้รับสัมปทาน เป็นผู้ออกแบบ-ก่อสร้าง-บริการจัดการ และเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วก็โอนกิจการและทรัพย์สินคืนแก่รัฐบาล) และมีแผนจะส่งออกไฟฟ้าอย่างน้อย 50% ให้กับจีน
บันทึกความเข้าใจของเขื่อนทั้งสองแห่ง ได้รับการลงนามเมื่อเดือนธันวาคม 2552 ระหว่างการเดินทางมาเยือนกรุงเนปิดอว์ของรองประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในขณะนั้น และมีการลงนามบันทึกความตกลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กับรัฐบาลเต็งเส่ง เนื่องจากมีแรงต่อต้านจากประชาชนอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้การก่อสร้างเขื่อนหนองผาไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ กองทัพว้าได้รับอนุญาตอย่างเงียบ ๆ ให้เริ่มก่อสร้างเขื่อนมานโตงในเขตพื้นที่ของตน มีภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดชี้ให้เห็นการเตรียมงานของการสร้างฐานเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ในทั้งสองฝั่งของแม่น้ำมา
การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIAs) ของทั้งสองเขื่อน ดำเนินงานโดย Snowy Mountains Engineering Corporation (SMEC) บริษัทจากออสเตรเลีย (ถูกซื้อกิจการโดย Surbana Jurong ซึ่งเป็นของรัฐบาลสิงคโปร์เมื่อปี 2559) แต่จากการประเมินในปี 2560 ของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) พบว่าไม่เคยมีการเสนอรายงาน ESIAs ให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมียนมา ในปัจจุบันมีการระบุชื่อบริษัท SMEC ในฐานะเป็นผู้ติดต่ออย่างเป็นทางการของโครงการ
การที่กองทัพว้ายินยอมทำตามผลประโยชน์ของจีน และปล่อยให้มีการเดินหน้าเขื่อนมานโตง ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการเร่งเดินหน้าเขื่อนหนองผาเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันพวกเขาได้เข้ามาควบคุมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการแล้ว
ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคม 2567 มีผู้พบเห็น “นักธุรกิจ” ชาวจีน 12 คน เดินทางไปที่ที่ตั้งเขื่อนหนองผา โดยขับรถเอสยูวีผ่านทางสะพานท่ากองแอ็ค ทิศตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน โดยมีกองกำลังกองทัพว้าคอยอารักขา ระหว่างเดินจากทางเหนือเมืองต้างยานไปยังที่ตั้งของเขื่อน
เขื่อนหนองผาเป็นหนึ่งในเขื่อนขนาดใหญ่สามแห่งตามแผนก่อสร้างของบริษัทจากจีนบนแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน ส่วนเขื่อนอีกสองแห่งได้แก่ เขื่อนกุ๋นโหลง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ตอนเหนือ และเขื่อนเมืองโต๋น ขนาด 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ตอนใต้ของรัฐฉาน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และกลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำสาละวินในพม่า ได้แสดงการต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำ เนื่องจากผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำสาละวิน
ข้อกังวลสำคัญเกี่ยวกับเขื่อนหนองผา รวมถึงอันตรายจากแผ่นดินไหวซึ่งเป็นผลมาจากน้ำหนักของน้ำในที่กักเก็บน้ำ ภาคเหนือของรัฐฉานเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวอยู่แล้ว และเขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อนหลายรอย เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจีนระงับแผนการสร้างเขื่อน 13 แห่ง บนแม่น้ำสาละวิน/นู่เจียง ในเขตประเทศจีนเอง เมื่อปี 2547 เพราะอันตรายจากแผ่นดินไหว เนื่องจากแม่น้ำสายนี้ไหลผ่านแนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่โดยตรง
ข้อกังวลอีกประการหนึ่งเกี่ยวข้องกับอันตรายกรณีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ และจำเป็นต้องมีการปล่อยน้ำออกจาเขื่อนทันที ทำให้ปริมาณน้ำด้านท้ายน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าอันตราย ภัยน้ำท่วมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐฉานปีนี้ยิ่งทำให้เกิดข้อกังวลมากขึ้น
ประเทศจีนควรรับฟังเสียงต่อต้านของประชาชนต่อการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และยกเลิกแผนก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักด้านตะวันออกของพม่าสายนี้ทันที
ประเทศสิงคโปร์ก็ควรยุติไม่ให้ SMEC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Surbana Jurong มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งโครงการเขื่อนหนองผาและโครงการเขื่อนมานโตงทันที
ไทม์ไลน์ของโครงการเขื่อนหนองผาและเขื่อนมานโตง ทางเหนือของรัฐฉาน
20 ธันวาคม 2552
ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่าง Hydrochina กับกระทรวงการไฟฟ้าของพม่า 1 (MOEP) เพื่อก่อสร้างเขื่อนหนองผาและเขื่อนมานโตง โดยมีพยานเป็นรองประธานาธิบดีสีจิ้นผิงระหว่างที่มาเยือนกรุงเนปิดอว์
22 พฤษภาคม 2557
ลงนามในบันทึกความตกลงสำหรับเขื่อนหนองผาและเขื่อนมานโตงโดย Hydrochina และกระทรวงการไฟฟ้าของพม่า
2557
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงขั้นตอนเพื่อเตรียมการก่อสร้างที่เขื่อนมานโตง
มิถุนายน 2559
SMEC จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนหนองผา (ESIA) ที่จะก่อสร้างในพื้นที่ควบคุมของกองทัพว้า (UWSA) และในเขตโหป่าง กุ๋นโหลง และเมืองย๋อ โดยอ้างบนเว็บไซต์เพื่อโฆษณาเขื่อนว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสนับสนุนโครงการเขื่อน
5 สิงหาคม 2559
ชาวบ้านประมาณ 250 คนจากเก้าหมู่บ้านในเมือง ต้างยาน รวมทั้ง สส.ของพรรค Shan Nationalities League for Democracy (SNLD) ในเมืองต้างยาน ทำการประท้วงต่อต้านเขื่อนหนองผา
21 สิงหาคม 2569
แกนนำชุมชนประมาณ 60 คนจากเขตโหป่าง กุ๋นโหลง เมืองต้างยาน ล่าเสี้ยว และแสนหวี รวมทั้งสส.สามคนจากพรรค SNLD ทำการประท้วงต่อต้านเขื่อนหนองผา
23 สิงหาคม 2559
กลุ่มภาคประชาสังคมไทใหญ่จัดงานแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับเขื่อนหนองผา และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของ SMEC จากนั้นเว็บไซต์ที่โฆษณาเขื่อนหนองผา (naopha.com) จึงถูกปิดไป
25 กรกฎาคม 2567
ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงการเตรียมงานก่อสร้างฐานเขื่อนมานโตงยังคงเกิดขึ้นทั้งสองฝั่งของแม่น้ำมา