Search
Close this search box.

บริษัทของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เริ่มก่อสร้างเขื่อนน้ำตู้ที่อื้อฉาวในตอนเหนือของรัฐฉาน

SSFIM UWSA company steps up construction of controversial Namtu dam in northern Shan State

บริษัทของกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army – UWSA) เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนน้ำเขื่อนน้ำตู้อย่างรวดเร็วในแม่น้ำตู้หรือแม่น้ำมิตแหงะ 20 กิโลเมตรตอนเหนือของเมืองสี่ป้อในภาคเหนือของรัฐฉาน แม้จะถูกต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่

 

ทั้งนี้ ได้มีการลงนามความตกลงอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างเขื่อนน้ำตู้ขนาด 210 เมกะวัตต์ (เมืองสี่ป้อ) ระหว่างบริษัท Natural Current Energy Hydropower Company (NCEH) ของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กับกรมพลังงานไฟฟ้าและการวางแผน รัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) ที่กรุงเนปิดอร์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นับแต่นั้น ชาวบ้านในพื้นที่พบว่ามีการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมากรอบพื้นที่สร้างเขื่อน รวมทั้งรถบรรทุกจำนวนมากที่ขนวัสดุสิ่งของมาจากเมืองล่าเสี้ยว และมีคนงานจีนกว่า 100 คนซึ่งพูดพม่าหรือชาติพันธุ์อื่นๆไม่ได้เลยเข้ามาในพื้นที่ ทำให้คนจำนวนมากคิดว่าเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน 

 

บริษัท NCEH ได้เริ่มงานก่อสร้างพื้นฐานของเขื่อนในปี 2560 หลายปีก่อนจะมีการให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการต่อโครงการจากรัฐบาลพม่ร และก่อนจะมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้จากการเปิดเผยของกลุ่มปฏิบัติการแม่น้ำรัฐฉานใน (Action for Shan State Rivers) รายงาน เมื่อปี 2563 ที่เปิดเผยว่า บริษัท NCEH ได้เริ่มถางทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างผิดกฎหมาย สร้างถนนเข้าไปในพื้นที่เขื่อน และก่อสร้างห้องแถวทำด้วยคอนกรีตเป็นที่พักของคนงาน 

 

ระหว่างปี 2561 และ 2562 นางคำเอ สส.ของเมืองน้ำตู้ จากพรรคสันนิบาตรัฐฉานแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ได้ร้องทุกข์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบครั้งนี้ โดยตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาที่กรุงเนปิดอว์ เรียกร้องให้ยุติโครงการเขื่อนน้ำตู้ แต่รัฐบาลพม่าไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อต่อต้านบริษัท NCEH ซึ่งยังคงเดินหน้าเตรียมงานก่อสร้างขั้นพื้นฐานต่อไป 

 

บริษัท NCEH ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 และบรรยายเกี่ยวกับตนเองใน เว็บไซต์ ว่าทำงานด้าน “ออกแบบ ลงทุน และการดำเนินงาน” โรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่กลับไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับโครงการอื่นใดเลยนอกจากเขื่อนน้ำตู้ บริษัทไม่เพียงสามารถจัดทำบันทึกความเข้าใจในปี 2557 ตามความตกลงการร่วมลงทุนแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) สำหรับเขื่อนน้ำตู้ (Namtu dam)ได้ ต่อมายังบรรลุข้อตกลงแบบ BOT ในการก่อสร้าง ระบบส่งไฟฟ้า ความยาว 47 ไมล์ขนาด 230 กิโลโวลต์จากเขื่อนน้ำตู้ไปเขื่อนเยหว่าตอนบน (Upper Yeywa dam) ในเมืองจ็อกแม โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ต่อสาธารณะเกี่ยวกับความตกลงแบบ BOT รวมทั้งข้อมูลที่ว่า บริษัท NCEH จะหาทุนสนับสนุนโครงการที่มีมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ได้อย่างไร เฉพาะโครงการเขื่อนน้ำตู้ต้องใช้เงินมากถึง 436 ล้านเหรียญ จากข้อมูลใน รายงาน กำหนดขอบเขตของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท MyAsia Consulting ในปี 2561 

 

เขื่อนน้ำตู้ (Namtu dam) ขนาด 210 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนที่สามที่จะสร้างในแม่น้ำตู้ จากเขื่อนชั้นทั้งหมดห้าโครงการ รวมทั้งเขื่อนเยหว่า (Yeywa dam) ขนาด 790 เมกะวัตต์ในแม่น้ำตู้ตอนล่าง ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2553 ส่วนเขื่อนเยหว่าตอนบน (Upper Yeywa dam) ขนาด 280 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2551 ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ 

ความกังวลของชุมชนเกี่ยวกับเขื่อนน้ำตู้

1. การขาดความโปร่งใส

แผนการสร้างเขื่อนน้ำตู้ถูกเก็บเป็นความลับตั้งแต่ต้น ตามบันทึกความเข้าใจในเบื้องต้นเมื่อเดือนเมษายน 2557 จะเป็นการสร้างเขื่อนขนาด 100 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการระบุขนาดกำลังผลิตนี้ในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ของภาคไฟฟ้าพลังน้ำของเมียนมา โดย International Finance Corporation ที่ดำเนินงานระหว่างปี 2560-2561 อย่างไรก็ดี ในปี 2561 มีการขยายกำลังผลิตตามแผนขึ้นเป็น 210 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ตามรายงานกำหนดขอบเขตของ EIA ของเขื่อนน้ำตู้ของบริษัท MyAsia Consulting 

 

แผนที่ปัจจุบันในหัวข้อ “โครงการระบบสายส่งไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง” ในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลทหารเมียนมา ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนน้ำตู้ หรือแผนการสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ที่เชื่อมกับเขื่อนเยหว่าตอนบน

 

เนื่องจากระบบสายส่งไฟฟ้าใหม่ตั้งอยู่ใกล้กับโครงการทางรถไฟไฟฟ้าหมู่แจ้-มัณฑะเลย์ ทำให้คาดการณ์ว่า เป้าหมายหลักของเขื่อนน้ำตู้คือ การจ่ายไฟฟ้าให้กับโครงการรถไฟของจีนสายนี้ แทนที่จะมุ่งตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในประเทศ รายงาน การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ของระบบส่งไฟฟ้าสำหรับรางรถไฟ ยังแสดงข้อมูลชัดเจนว่า ไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับโครงการรถไฟ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างจริงจังของชุมชน 

EIA diagram

แผนผังจากอีไอเอถึงโครงการทางรถไฟหมู่แจ้-มัณฑะเลย์ (ระบบจ่ายไฟฟ้า) พฤษภาคม 2564

2. ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสังคม

รายงานกำหนดขอบเขตของ EIA ของบริษัท MyAsia Consulting ยังระบุถึงผลกระทบด้านลบหลายประการของเขื่อนน้ำตู้ ซึ่งจะต้องมี “การศึกษาในรายละเอียดในขั้นของการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลของรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนแห่งนี้ 

 

ผลกระทบของเขื่อนด้านเหนือน้ำที่ระบุถึงในรายงานกำหนดขอบเขตของ EIA รวมถึงกรณีที่อ่างเก็บน้ำจะไหลท่วมหมู่บ้านหลีลู่ของชาวไทใหญ่ และพื้นที่เกษตรอีก 875 ไร่ ผลกระทบด้านท้ายน้ำยังรวมถึงการที่ตะกอนจะไม่ไหลไปสะสมที่ริมฝั่งด้านท้ายน้ำ การลดลงของกระแสน้ำซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบอุทกวิทยาด้านท้ายน้ำ ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และความปลอดภัยของเขื่อน รายงานระบุว่า “ความปลอดภัยของเขื่อนเป็นข้อกังวลร้ายแรงสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ กรณีที่เขื่อนแตกอาจทำให้เกิดหายนะอย่างร้ายแรง” 

 

ประชาชนกว่า 20,000 ในเมืองสี่ป้อ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตู้ ห่างจากเขื่อนน้ำตู้ไปด้านท้ายน้ำเพียง 20 กิโลเมตร จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเกิดหายนะเช่นนี้ ในปัจจุบัน พื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองก็เสี่ยงจะถูกน้ำท่วมหากมีฝนตกหนักจนน้ำเอ่อล้นออกมาจากแม่น้ำ หมายถึงว่าแม้จะไม่เกิดกรณีเขื่อนแตก แต่การปล่อยมวลน้ำจำนวนมากในครั้งเดียวกัน อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะไม่มีการระบุถึงในรายงานกำหนดขอบเขตของ EIA ฉบับนี้

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีการระบุถึงในรายงานกำหนดขอบเขตของ EIA คือปัญหามลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อน เนื่องจากมีการทำเหมืองด้านเหนือน้ำ ในปี 2563 กลุ่มปฏิบัติการแม่น้ำรัฐฉานได้เตือนว่า “เนื่องจากมีแผนที่จะเปิดทำการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่เหมืองตะกั่ว-เงินในเมืองบ่อดิน-น้ำตู้ ประมาณ 40 กิโลเมตรด้านเหนือน้ำของพื้นที่เขื่อนน้ำตู้ มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะเกิดมลพิษอย่างร้ายแรงในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านด้านท้ายน้ำ สารพิษของตะกั่วเป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับเด็ก ทั้งในแง่พัฒนาการทางกายและใจ” เนื่องจากมีการเริ่มทำเหมืองใหม่อย่างรวดเร็วที่เมืองบ่อดินภายหลังการทำรัฐประหาร ปัญหานี้จึงเป็นข้อกังวลที่รายแรงมาก  

 

การขาดความโปร่งใส และการเพิกเฉยอย่างต่อเนื่องต่อความกังวลของคนในท้องถิ่น ในบรรดานักพัฒนาเขื่อนน้ำตู้ เน้นให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนของข้อเรียกร้องของกลุ่มชุมชนชาวไทใหญ่ เพื่อให้ยุติการสร้างเขื่อนทุกโครงการในแม่น้ำตู้ทันที และให้มีการทำความตกลงชั่วคราวยุติการสร้างเขื่อนทั่วประเทศพม่า จนกว่าจะมีการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่ของสหพันธรัฐ เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องถิ่นสามารถคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของตนเองได้ 

การสร้างเขื่อนเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง

พื้นที่ตามริมฝั่งแม้น้ำตู้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีการลงนามในสัญญาหยุดยิง ส่วนกลุ่มอื่นยังคงสู้รบอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่การก่อสร้างเขื่อนน้ำตู้และเขื่อนเยหว่าตอนบน ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ในสภาพการณ์ที่มีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า พวกเขาได้รับคำสัญญาที่จะคุ้มครองความปลอดภัยจากกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม 

 

ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านเหล่านี้ และเหตุใดพวกเขาจึงยอมให้การสร้างเขื่อนเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ในขณะที่ชุมชนในท้องถิ่นต่อต้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง และโครงการนี้มีแต่จะให้ประโยชน์กับรัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) ที่ขาดความชอบธรรมและนักลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ

 

ในวันที่ 25 เมษายน 2566 กลุ่มประชาสังคมรัฐฉาน 13 กลุ่มได้ออก จดหมายเปิดผนึก ถึงองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และพรรคการเมืองในรัฐฉาน พวกเขาเตือนถึงผลกระทบร้ายแรงของเขื่อนน้ำตู้และเขื่อนเยหว่าตอนบน และแสดงความกังวลต่อการขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับโครงการนี้ของรัฐบาลทหารพม่า “ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางอ้อมต่อความพยายามของรัฐต่าง ๆ ที่ต้องการสถาปนาประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ” พวกเขากระตุ้นให้กลุ่มติดอาวุธและพรรคการเมืองยืนหยัดเคียงข้างชุมชนในท้องถิ่น และ “ใช้ช่องทางใด ๆ ที่มีอยู่” เพื่อยุติการก่อสร้างโครงการเขื่อนแห่งนี้