Search
Close this search box.

รัฐบาลทหารพม่าเริ่มพัฒนาโครงการเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ในตอนกลางของรัฐฉาน เพื่อรองรับแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก ป๋างแปก(Pinpet) – มินจาน(Myingyan)แห่งใหม่

pinpet coal mining shan state

ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2565 เริ่มมีการพัฒนาเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ในเขตเกสี ตอนกลางของรัฐฉาน เพื่อรองรับเตาหลอมเหล็กที่ Pinpet ใกล้กับเมืองตองจี ซึ่งจะป้อนเหล็กให้กับโรงงานเหล็กกล้า Myingyan ในมัณฑะเลย์ ห่วงโซ่การผลิตนี้จะทำให้กองทัพพม่าประสบความสำเร็จตามแผนที่มีมานานแล้ว เพื่อเพิ่มกำลังผลิตเหล็กกล้าในพื้นที่ และสนับสนุนอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

 

โรงงานเหล็กและเหล็กกล้าที่ Pinpet และ Myingyan เริ่มก่อสร้างตั้งแต่สมัยอดีตรัฐบาลทหาร SPDC แต่ไม่เคยเดินเครื่องอย่างเต็มที่ และถูกระงับไปในปี 2560 โดยรัฐบาลพรรค NLD เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่าต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก นับแต่การทำรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารพม่าได้รื้อฟื้นโครงการนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากบริษัทของรัสเซียและอิตาลี

โรงงานเหล็กป๋างแปก (Pinpet) เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างTyazhpromexport ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย (ดูลิงก์รายชื่อบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์) ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เทคโนโลยี “romelt” ของรัสเซีย ซึ่งเป็นการหลอมเหล็กเกรดต่ำในขั้นตอนเดียว กระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้ถ่านหินที่มีคุณภาพระดับหนึ่งซึ่งพบในเขตเกสี

 

ชุมชนในพื้นที่ได้ต่อต้านแผนการสร้างเหมืองถ่านหินในเขตเมืองเกซี มาเป็นเวลานานแล้ว เพราะจะทำลายพื้นที่เกษตรจำนวนมาก ปิดกั้นและสร้างมลพิษในแม่น้ำแหน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับชาวบ้านกว่า 18,000 คนเพื่อการเกษตรและการใช้งานในครัวเรือน

 

เริ่มมีการใช้รถบรรทุกขนส่งถ่านหินจากเขตเมืองเกซี ตอนกลางของรัฐฉาน ไปยังป๋างแปก โดยผ่านเมืองลายค่า หลอยแหลม และโหโปง โดยมีแผนการที่จะขนส่งถ่านหิน 1,500 ตันตามเส้นทางนี้ทุกวัน

 

บริษัทสามแห่งที่ทำเหมืองถ่านหินในเขตเมืองเกซี ได้แก่ หง่วย หยี่ ปะแล (Ngwe Yi Pale), มิน ส่วย หลว่า (Min Shwe Hlwar) และ บริษัทน้ำป๋างการพัฒนาและการลงทุน (Nampan Development and Investment๗ (ดูลิงก์รายชื่อบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับกองทัพพม่าและทหารบ้านของพวกเขา Ngwe Yi Pale และ Min Shwe Hlwar ต่างเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บริหารโครงการเหมืองถ่านหินที่สร้างมลพิษในพื้นที่อื่น ๆ ของรัฐฉาน

 

รถบรรทุกถ่านหินวิ่งผ่านโดยไม่มีการควบคุมตลอดพื้นที่ในตอนกลางของรัฐฉาน ที่อยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสัญญาหยุดยิง แสดงถึงความเห็นชอบที่ให้รถเหล่านี้ผ่านไปได้ และทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดพวกเขาจึงสนับสนุนรัฐบาลทหารในการผลิตเชื้อเพลิงให้กับอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ

 

เครือข่ายคนรากหญ้าในรัฐฉาน เรียกร้องผู้บริโภคให้คว่ำบาตรสินค้าและบริการของบริษัททำเหมืองในเขตเมืองเกซี รัฐฉาน จนกว่าพวกเขาจะยุติการดำเนินงานดังกล่าว เรียกร้องให้บริษัท Tyazhpromexport ของรัสเซีย (ดูลิงก์รายชื่อบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์) และ บริษัท Danieli ของอิตาลี (ดูลิงก์รายชื่อบริษัทที่ถูกแบล็กลิสต์) ให้ยุติความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่า และให้ถอนตัวจากพม่าโดยทันที

การฟื้นฟูโรงงานเหล็กป๋างแปก

โรงงานเหล็กป๋างแปก (Pinpet) ตั้งอยู่ติดกับแหล่งแร่เหล็กใหญ่เป็นอันดับสองในภูเขาป๋างแปก ตั้งอยู่ประมาณ 10 กิโลเมตรทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองตองจี เป็นโครงการที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง Tyazhpromexport ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัสเซียกับหน่วยงาน Myanmar Economic Corporation ของกองทัพ ตามความตกลงที่มีการลงนามในปี 2547 โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2549

 

ในปี 2552 องค์กรเยาวชนปะโอ (PYO) ได้เผยแพร่รายงาน ที่เปิดโปงผลกระทบร้ายแรงของการก่อสร้างโรงงานเหล็กและโรงงานปูนซีเมนต์ Kanbawza ที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งการเวนคืนที่ดิน 11,000 เอเคอร์ โดยมีการจ่ายค่าชดเชยเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และการบังคับชาวบ้าน 50 คนให้โยกย้ายถิ่นฐาน PYO ได้เตือนว่า เมื่อโครงการเหมืองแร่และโรงงานหลอมเหล็กขนาดใหญ่เริ่มเดินเครื่อง จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการทำเกษตรของประชากร 7,000 คนที่อาศัยอยู่รอบเชิงเขา และอีก 35,000 คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Thabet Stream ในหุบเขา Hopong ด้านตะวันออกของโรงงาน ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมและมลพิษ

 

ในปี 2558 การก่อสร้างโรงงานป๋างแปกในขั้นตอนแรกสำเร็จลง แต่ในเดือนมีนาคม 2560 รัฐบาล NLD ได้อ้างความเสียหายด้านการเงิน และสั่งระงับโครงการป๋างแปก รวมทั้งโรงงานเหล็กกล้ามินจาน (Myingyan) ซึ่งเป็นโรงงานที่รองรับเหล็กดิบที่ผลิตจากป๋างแปก

 

นับแต่การทำรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารพม่าได้ฟื้นฟูทั้งโครงการป๋างแปก และมินจาน (Myingyan) และได้ร่วมมือกับหน่วยงาน Tyazhpromexport ของรัสเซีย และบริษัท Danieli ของอิตาลี ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงงานเหล็กกล้ามินจาน Myingyan

 

ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ได้มาตรวจเยี่ยมโรงงานป๋างแปก Pinpet ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกว่าโรงงานเหล็กกล้าหมายเลข 2 (ป๋างแปก) ของกระทรวงอุตสาหกรรม สื่อของรัฐได้รายงานว่า โครงการนี้แล้วเสร็จไป 98.86% และอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟและโครงข่ายไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ เพื่อช่วยให้สามารถเดินเครื่องโรงงานได้ภายในปีงบประมาณ 2566-2567

ในเดือนเมษายน 2565 ได้เริ่มมีการปรับปรุงและซ่อมแซมเส้นทางท่อส่งก๊าซที่เชื่อมระหว่างท่อส่งก๊าซ Shwe ในภาคมะเกว กับ ป๋างแปก ในเดือนกันยายน 2565 สื่อของรัฐรายงานว่า การปรับปรุงโครงการท่อส่งก๊าซความยาว 185 ไมล์ระหว่าง มะเกว-ปย่อปอย-ปินหย่อง-ป๋างแปก (Magwe-Pyawbwe-Pyinyaung-Pinpet) ได้แล้วเสร็จไป 77.5%

 

ในเดือนมิถุนายน 2565 การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความยาวหกไมล์สายใหม่ได้เริ่มขึ้น เพื่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟสายเดิมระหว่างหย่องส่วย – น้ำจ๋าง (Nyaungshwe-Namzarng) กับป๋างแปก และเชื่อมต่อระหว่างโรงงานเหล็กกับเส้นทางรถไฟสายนี้ ช่วยทำให้สามารถจัดส่งเหล็กดิบที่ผลิตจากโรงงานในป๋างแปก โดยตรงไปยังโรงงานเหล็กกล้ามินจาน (Myingyan)

 

ที่ผ่านมามีการเวนคืนที่ดิน 287 เอเคอร์เพื่อจัดทำเส้นทางรถไฟสายใหม่ มีการบังคับให้เกษตรกรต้องยอมรับค่าชดเชยจำนวน 5 ล้านจ๊าตต่อเอเคอร์ รวมทั้งมูลค่าของผลผลิตเป็นเวลาสามปีในที่ดินของตน

 

นอกจากนี้ โรงงานป๋างแปกยังน้ำไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าเชียงตอง (Kengtawng hydropower plant) และโครงการเขื่อนเชียงตองบน (Upper Kengtawng dam project) จากอำเภอเมืองนายมาใช้ หากโรงงานสร้างแล้วเสร็จ

การเปิดโรงงานป๋างแปกใหม่คุกคามวิถีชีวิตของเกษตรกรทำนาดำหลายพันคนในทุ่งโปง

ด้านใต้ของป๋างแปก แม่น้ำตะเบต (หรือมีชื่อเรียกว่า แม่น้ำตามผากในรัฐฉาน) มีรูปแบบการหลากของน้ำประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ในช่วงฤดูฝน น้ำจะหลากริมสองฝั่ง ทำให้เกิดหนองน้ำกว้าง 8 กม. ตลอดระยะ 15 กม.ของแม่น้ำ ประชาชนกว่า 10,000 คนอาศัยอยู่ในประมาณ 30 หมู่บ้าน ในบริเวณที่น้ำหลาก ซึ่งมักเรียกว่า “ทุ่งโป่ง” ในรัฐฉาน พวกเขาเป็นเกษตรกรนาดำ รวมทั้งทำประมงด้วย

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การก่อสร้างและการดำเนินงานของโรงงานพินเพท และโรงงานซีเมนต์ฉานโยม่า (Shan Yoma) ที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งโรงงานแร่พลวง หง่วย กะบา จ่อ (Ngwe Kabar Kyaw) และการขยายเขตแร่พลวงของบริษัทรูบีดราก้อน (Ruby Dragon Mining Company) ทำให้ชาบ้านทุ่งโป่งต้องได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำตะแป๊ตที่เสื่อมโทรมลง โดยน้ำมีลักษณะขุ่น ทำให้แสบคันต่อผิวหนัง สัตว์น้ำลดลง และผลผลิตจากการทำนาดำก็ลดลง

 

หากโรงงานพินเพทเปิดดำเนินการอีกครั้งเต็มกำลังผลิต จะมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำตะแบตเพิ่มขึ้นอย่างมาก และชาวบ้านทุ่งโป่งกลัวว่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ คุกคามสุขภาพและวิถีชีวิตของพวกเขา

กองทัพพม่าได้ยึดที่ดินเพื่อก่อสร้างเหมืองถ่านหินในเขตเมืองเกซี รัฐฉาน

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉานได้บันทึกข้อมูล การเตรียมก่อสร้างเหมืองถ่านหินในเขตเกสี ที่เริ่มขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารพม่า SPDC

 

ในปี 2552 กองทัพพม่า LIB 131 ในเขตเกสี ได้รับสัมปทานการทำเหมืองถ่านหินขนาด 5,459 เอเคอร์ในเขต Mong Gao แปดกิโลเมตรด้านใต้ของเขตเกสี มีการบังคับให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องยอมรับค่าชดเชยที่ดิน 24,000 จ๊าตต่อเอเคอร์

 

ในปี 2558 Union of Myanmar Economic Holdings Limited (UMEHL) ของกองทัพพม่าได้ขายสัมปทานเหมืองถ่านหินใน เมืองก๋าว (Mong Gao) ให้กับบริษัทห้าแห่งเป็นเงินจำนวน 100 ล้านจ๊าตต่อแห่ง โดย UMEHL จะได้รับผลกำไร 17% เมื่อโครงการเหมืองแร่เริ่มการผลิตแล้ว ในปีเดียวกัน มีการสร้างฐานทัพใหม่สองแห่งของกองทัพพม่าในเมืองก๋าว (Mong Gao)

 

ในปี 2561 ทางการในเขตเมืองเกซี แจ้งต่อชาวบ้านในพื้นที่เมืองก๋าว (Mong Gao) ว่า จะมีการพัฒนาพื้นที่ 5,459 เอเคอร์ให้เป็นโรงงานเหล็กป๋างแปก ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ชาวบ้านเขียนจดหมายร้องเรียนเพื่อต่อต้านโครงการไปยังหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานระดับรัฐ ในรัฐฉาน

 

ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 เหมืองถ่านหินเริ่มดำเนินงานในเขตพื้นที่เมืองก๋าว (Mong Gao) โดยเป็นการบริหารของบริษัทสามแห่ง ได้แก่ บริษัท หง่วย หยี่ ปะแล (Ngwe Yi Pale), มิน ส่วย หลว่า (Min Shwe Hlwar) และ บริษัทน้ำป๋างการพัฒนาและการลงทุน (Nam Pan Development and Investment Company) ในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 เริ่มมีขบวนรถบรรทุก 22 ล้อจำนวน 15 คันขบวนแรก ขนส่งถ่านหินจากพื้นที่เมืองก๋าว เมืองเกซี ไปยังป๋างแปก โดยใช้เส้นทางผ่านเขตเมืองหนอง เมืองเกซี

 

บริษัท หง่วย หยี่ ปะแล(Ngwe Yi Pale) และ บริษัทน้ำป๋างการพัฒนาและการลงทุน (Nam Pan) อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเริ่มการผลิตของเหมืองถ่านหินที่บ้านวาบ (Wan Warp) ประมาณ 20 กิโลเมตรด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเขตเมืองเกซี จะมีการขนส่งถ่านหินจากที่นี่ไปยังป๋างแปกเช่นกัน หน่วยงานของรัฐบาลทหารพม่าได้บังคับให้เกษตรกรต้องรับค่าชดเชยเพียง 5,000 จ๊าตต่อที่ดินหนึ่งเอเคอร์

เหมืองถ่านหินในเมืองเกซี และผลกระทบที่ร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์ลำน้ำขาใหญ่ของแม่น้ำสาละวิน

ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านอย่างหนักต่อโครงการเหมืองถ่านหิน ซึ่งไม่เพียงจะทำลายพื้นที่เกษตรกรรมในวงกว้าง พื้นที่เลี้ยงสัตว์และป่าชุมชน หากยังจะปิดกั้นและสร้างมลพิษในแม่น้ำเห็น ซึ่งหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมในกว่า 50 หมู่บ้านในเขตเมืองเกซี แม่น้ำแห็น ไหลลงสู่แม่น้ำป๋าง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาใหญ่สุดของแม่น้ำสาละวิน

 

ที่ผ่านมาเริ่มมีการปล่อยกากของเสียจากการทำเหมืองที่เหมืองถ่านหินเมืองก๋าว (Mong Gao) ลงสู่บริเวณทะเลสาบหนองกา (Nawng Kha) ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์และเป็นแหล่งชลประทานในพื้นที่ ชาวบ้านร้องขอบริษัทไม่ให้ปล่อยกากของเสียที่นี่ แต่ถูกเพิกเฉย

ความขัดแย้งเกี่ยวกับการควบคุมเหนือเส้นทางขนส่งถ่านหิน

รัฐบาลทหารพม่ามีฐานทัพตั้งอยู่ในเมืองต่าง ๆ ตามเส้นทางขนส่งถ่านหิน 200 กม. ระหว่างเหมืองถ่านหินที่เขตเมืองเกซี ละโรงงานเหล็กป๋างแปก แต่พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มทหารใต้การบัญชาการของกองทัพพม่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีข้อตกลงหยุดยิง

กลุ่มติดอาวุธที่มีอิทธิพลในเส้นทางนี้ได้แก่

กลุ่มทหารใต้กองทัพพม่า (Regime-allied militia)

องค์กรแห่งชาติปะโอ (PNO) 

– หยุดยิงตั้งแต่ปี 2534

Manpang militia 

– ก่อตั้งโดย Bo Mon อดีตเจ้าหน้าที่ของกองทัพเมืองไต (MTA)

 

Shan State South (SSS) militia 

– ก่อตั้งโดย Maha Ja อดีตเจ้าหน้าที่ของกองทัพเมืองไต

กลุ่มหยุดยิง

พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) 

– หยุดยิงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2532 หยุดยิงครั้งใหม่ตั้งแต่ปี 2555


สภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) 

– หยุดยิงตั้งแต่ปี 2555

 
กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) 

– หยุดยิงตั้งแต่ปี 2532